7 จุดพลาด มือใหม่ ซื้อบ้าน
เพราะการซื้อบ้าน เป็นหนึ่งเป้าหมายชีวิตที่หลายคนต้องการ มันเป็นเรื่องใหญ่และคงไม่ได้ทำกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเรื่องค้นหาบ้าน เรื่องสินเชื่อบ้าน เรื่องประกันบ้าน ตลอดจนเรื่องราคาบ้านที่เหมาะสม หากมีการส่งต่อประสบการณ์ซื้อบ้านหลังแรก คงจะเกิดประโยชน์ไม่น้อย แก่คนที่กำลังตัดสินใจซื้อบ้านขณะนี้
1. มองข้าม Pre-Approved
การยื่น pre-approve เสมือนเป็นการตรวจสอบความสามารถการกู้ของบุคคลนั้นๆ โดยตรวจสอบกับข้อมูลเบื้องต้นด้านรายได้ หรือภาระหนี้สินต่างๆ สามารถกู้ได้วงเงินเท่าไหร่ เป็นต้น เป็นประโยชน์ในการประมาณตนว่าบ้านที่เหมาะสมในการซื้อควรอยู่ในระดับราคาเท่าใด ทั้งนี้ ผลลัพทธ์ pre-approve ที่ออกมาว่า “ผ่าน” อาจกลายเป็น ”ไม่ผ่าน” เมื่อยื่นกู้จริงก็ได้ จากการพิจารณาองค์ประกอบสินเชื่ออื่น ๆ เช่น ความชัดเจนของที่มารายได้ , ราคาประเมินหลักทรัพย์ ฯลฯ
2.เชื่อข้อมูลขายบ้าน online มากเกินไป
การค้นหาบ้านทางอินเตอร์เน็ตเป็นทางเลือกที่ดีและช่วยประหยัดเวลาได้ไม่น้อย มีตัวช่วยคัดกรองมากมายเปิดบริการฟรี สามารถเลือกทำเล , ประเภท , ราคา หรือแม้แต่ขนาดที่ดินตัวบ้าน เป็นต้น จุดอ่อนในข้อนี้ก็คือ คุณไม่มีทางเห็นสภาพบ้านตามความเป็นจริงได้ทั้งหมดจากภาพถ่ายที่แสดงในอินเตอร์เน็ต กลิ่น เสียง หรือสัญญาณอะไรที่ส่อว่าบ้านหลังนี้อาจมีปัญหาซ่อนอยู่ ดังนั้น ควรใช้ข้อมูลอินเตอร์เน็ตเป็นเครืองมือเบื้องต้นในการค้นหาบ้านในฝันก่อนจะลงสนามจริงของคุณจะดีกว่า
3. สนใจบ้านที่มีราคาเกินความสามารถตนเอง
เข้าใจได้ว่า การซื้อบ้านเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต ยิ่งเป็นบ้านหลังแรกย่อมต้องการสิ่งที่ดีที่สุด หลายคนมองไกลไปสู่อนาคต ซื้อบ้านหลังใหญ่ไปเลยทีเดียว เพื่อโอกาสครอบครัวขยายในอนาคต โดยเฉพาะคู่รักข้าวใหม่ปลามัน แต่งงานสร้างครอบครัว การกู้ร่วมทำให้ความสามารถในการยื่นกู้ได้วงเงินสูงขึ้น คิดว่าประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนตัวลง น่าจะพอเป็นไปได้ แต่ไม่ได้คำนึงถึงเหตุการณ์เกินความคาดหมาย การเจ็บป่วย หรืออะไรที่จำเป็นต้องใช้เงิน เมื่อนั้นชีวิตการเงินของคุณจะตึงเครียดแน่นอน
4.ขี้เกียจเลือกสินเชื่อบ้าน
คนซื้อบ้านด้วยเงินสดเต็มจำนวนคงมีไม่มาก การกู้ซื้อบ้านจึงเป็นทางออกสำคัญในการซื้อบ้านของคนส่วนใหญ่ นอกจากธนาคารจะเป็นผู้เลือกอนุมัติสินเชื่อแล้ว ตัวเราเองก็สามารถเป็นผู้เลือกว่าจะกู้ธนาคารไหนได้เช่นเดียวกัน วงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย โปรโมชั่นหรือเงื่อนไขได้เปรียบเสียเปรียบอื่นๆ อย่าตื่นเต้นกับคำว่า “อนุมัติผ่าน” ไม่จำเป็นต้องเลือกธนาคารที่อนุมัติผ่านเร็วเป็นที่แรก แต่ควรเลือกธนาคารที่มีเงื่อนไขเป็นที่พอใจแก่เรามากที่สุด
5.ไม่ตรวจสอบบ้านก่อนรับมอบ
กรณีซื้อบ้านจัดสรรสร้างใหม่ อย่าด่วนดีใจเข้าอยู่ไวๆ โดยมองข้ามขั้นตอนการตรวจรับบ้าน อย่าฝากญาติพี่น้องหรือคนในครอบครัวไปดู โดยที่ตนเองไม่ได้ไปเห็นด้วยตา ไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ภายนอก แต่หมายถึงการตรวจสอบความเรียบร้อยของระบบต่างๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ เทพื้นปูกระเบื้อง รอยแตกราว ฯลฯ หากมีผู้ชำนาญด้านนี้ไปตรวจสอบด้วย ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ 6.ไม่สนใจเรื่องประกันบ้าน
การซื้อบ้านด้วยเงินกู้ มักจะมีเงื่อนไขบังคับให้ซื้อประกันคุ้มครองบ้าน เพื่อความปลอดภัยของหลักประกัน แต่สำหรับบ้านปกติโดยทั่วไป มักไม่นิยมทำประกันประเภทนี้มากนัก ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเงินประกันกับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ก็ถือว่าเป็นหนึ่งข้อคิดน่าสนใจที่อยากจะฝากไว้
7.ไม่มองศักยภาพเพิ่มมูลค่าบ้านในอนาคต
สำหรับการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย นอกจากจะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองแล้ว ยังสามารถสร้างผลตอบแทนให้ตนเองได้อีกด้วย ผลตอบแทนนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราประกาศขายบ้านในราคาที่สูงขึ้น หลายคนเข้าใจผิดว่า อสังหาฯสามารถสร้างกำไรได้ทุกชิ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง ราคาอสังหาที่เพิ่มขึ้นทุกปี อาจเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปีก็ได้ ยังไม่รวมถึงการซ่อมแซมบ้าน , ค่าเสื่อมตัวอาคารตามระยะเวลาอีก บ้านขายแพงก็ปิดการขายยาก ดังนั้น การขายบ้าน ณ ระดับราคาตลาด ที่ยังสร้างผลตอบแทนได้ จะเป็นบ้านที่อยู่ในพื้นที่ศักยภาพในอนาคต เช่น การคมนาคมขนส่ง โครงการลงทุนภาครัฐ การลงทุนศูนย์การค้าภาคเอกชน เป็นต้น